สัปดาห์ที่ 29 ของการตั้งครรภ์: The 29th Week of Pregnancy
สัปดาห์ที่ 29 แล้วนะคะคุณแม่ ไตรมาสที่ 3 เป็นไตรมาสสำคัญที่ทั้งคุณลูกและคุณแม่ มีการเติบโตไปพร้อมๆ กัน ในสัปดาห์นี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ไปติดตามกันค่ะ
Highlights
- สัปดาห์นี้ อาจจะได้เห็นรอยยิ้มแรกของลูกน้อยแล้วนะคะ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เค้านอนค่ะ
- สัปดาห์นี้กระดูกของลูกจะแข็งแรงมากขึ้น แม่จะรู้สึกถึงลูกดิ้นได้ชัดเจนค่ะ
- สัปดาห์นี้ คุณแม่อาจเริ่มนับลูกดิ้นได้แล้วค่ะ
- ช่วงนี้ ลูกจะเริ่มสะอึกบ่อยมากขึ้น เพื่อเป็นการฝึกการหายใจของลูกค่ะ
สัปดาห์นี้ลูกเป็นอย่างไร?
สัปดาห์นี้ลูกมีขนาดยาวประมาณ 15 1/2 -16 นิ้ว ขนาดเท่าดอกกะหล่ำแล้วค่ะ น้ำหนักตอนนี้ได้ 1,300-1,400 กรัม นอกจากลูกจะตัวโตขึ้นแล้ว ตอนนี้เค้าก็มีพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่นกันค่ะ
- ระบบประสาท: ไตรมาสนี้ เปลือกหุ้มปลอกประสาทมีการสร้างอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกได้มีการพัฒนาการทักษะอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไตรมาสนี้ โคลีนจึงสำคัญต่อการพัฒนาในส่วนนี้เป็นอย่างมากค่ะ
- กระดูก: ไตรมาสนี้กระดูกของลูกจะแข็งแรงมากขึ้น ลูกต้องการแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกมากถึง 250 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้นในไตรมาสนี้ แม่ยิ่งต้องทานแคลเซียมให้เพียงพอค่ะ
- ปอดสร้าง Surfactant อย่างต่อเนื่อง: ในสัปดาห์ ลูกก็ยังคงสร้างสาร Surfactant อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการหายใจ ซึ่งลูกจะสร้างต่อเนื่องเรื่อยๆ จนอายุ 35 สัปดาห์ ที่ลูกจะพร้อมหายใจได้ด้วยตัวเองค่ะ
- ยิ้มแรกของลูก: สัปดาห์นี้ลูกเริ่มมีรอยยิ้มชัดเจนแล้วนะคะ โดยเฉพาะในช่วงที่เค้าหลับ อาจเพราะเค้าฝันดีก็เป็นได้ค่ะ
- รอยย่นตามตัวเริ่มหายไป: สัปดาห์นี้ลูกได้เริ่มสะสมไขมันน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ลูกเริ่มมีรอยย่นตามตัวน้อยลง แล้วผิวดูน่ารักน่ากอดมากขึ้นแล้วค่ะ
อาการของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 29
ไตรมาสที่ 3 คุณแม่อาจจะมีอาการอื่นๆ ที่ต้องติดตามนะคะ
ภาวะซีด
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีปริมาณน้ำเลือดที่มากขึ้นถึง 50% ส่งผลให้คุณแม่อาจมีภาวะซีดได้ง่าย ยิ่งถ้าคุณแม่ซีดอยู่เดิม คุณหมออาจมีการติดตามอย่างใกล้ชิดค่ะ แนะนำให้คุณแม่ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างต่อเนื่อง หรือเสริมวิตามินที่มีธาตุเหล็ก 27-50 มิลลิกรัม ขึ้นกับว่าคุณแม่ซีดมากน้อยแค่ไหน โดยแนะนำให้เลือกธาตุเหล็กที่ทำให้ท้องผูกน้อยค่ะ (อ่านความรู้เพิ่มเติมเรื่องธาตุเหล็ก)
เส้นเลือดขอด
จากการที่ท้องโตขึ้นทำให้อาจกดทับการไหลเวียนของเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขาได้ นอกจากเส้นเลือดขอดที่ขาแล้วแล้ว ยังพบว่าเส้นเลือดขอด อาจมาในรูปแบบริดสีดวงได้เช่นกัน
เกร็ดน่ารู้สัปดาห์นี้
นับลูกดิ้น ในสัปดาห์นี้คุณแม่ควรเริ่มนับลูกดิ้น เพื่อติดตามสุขภาพของลูกน้อยนะคะ
เทคนิคการนับลูกดิ้น
- เริ่มนับลูกดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือ 34 สัปดาห์ ในคนที่มีความเสี่ยงน้อย
- นับลูกดิ้น 1-2 ครั้งต่อวัน โดยอาจทำช่วงเช้า และช่วงเย็น
- จับเวลานับลูกดิ้นประมาณ 30-60 นาที และสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 ชั่วโมง
- เริ่มนับลูกดิ้น โดยนับทุกการขยับเป็น 1 ครั้ง เช่น ถีบ หมุนตัว ขยับตัว เป็นต้น
- หากลูกดิ้นครบ 10 ครั้ง สามารถหยุดการนับลูกดิ้นได้
- หากใน 1 ชั่วโมงลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้เปลี่ยนอิริยาบท กินอาหาร หรือนอนตะแคงซ้าย แล้วนับต่ออีก 1 ชั่วโมง จนครบ 10 ครั้ง ถ้าครบ 10 ครั้งถือว่ายังปกติดี บางคำแนะนำสามารถนับต่อเนื่องได้ถึง 12 ชั่วโมง หากยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมง อาจต้องติดต่อแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพของลูกเพิ่มเติม
- ในช่วง 36 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้นับลูกดิ้น อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวันค่ะ
(อ่านเพิ่มเติม เรื่องการนับลูกดิ้น)
ผ่านไปแล้ว 29 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คุณแม่อาการเป็นยังไงบ้าง มาเล่าให้หมอหน่อยฟังบ้างนะคะ แล้วมาติดตามกันใหม่ในสัปดาห์ที่ 30 ค่ะ
รักในฉบับแม่